พบมิจฉาชีพปลอมแปลงช่อง YouTube ของ Thai PBS โฆษณายาเม็ดฟู่รักษาเบาหวาน สืบพบข้อมูลปลอมหลายจุด ทั้งโลโก้ปลอม เลข อย. ตรวจสอบไม่พบ และภาพผู้เชี่ยวชาญที่ถูกนำมาใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อหลอกลวง
Thai PBS Verify พบแหล่งที่มาจาก : Youtube
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปปลอมอ้างโลโก้ Thai PBS
Thai PBS Verify พบคลิปจากช่อง YouTube แอบอ้างชื่อ THAI PβS ใช้ภาพโลโก้ “Thai PBS” โดยไม่ได้รับอนุญาต ลงคลิปชื่อ “Hotline : 099……..” ซึ่งภายในคลิปมีความยาว 33 นาที อธิบายถึงสรรพคุณของเม็ดฟู่ และอ้างว่า “95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ดีขึ้นหลังผ่าน 15 วัน เพียงทาน SATTOCHI วันละ 2 แก้ว สามารถลดการฉีดอินซูลินและการพึ่งพายาแผนปัจจุบัน ลดอาการชาที่มือและเท้า ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน รวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์สกัดจากธรรมชาติ ไร้ผลข้างเคียง มีใบรับรอง อย. อย่างถูกต้อง” โดยคลิปดังกล่าวมีผู้เข้าชมกว่า 37,000 ครั้ง และถูกโพสต์เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา (ลิงก์บันทึก)
เมื่อตรวจสอบภายในช่องดังกล่าวพบว่า ไม่มีการโพสต์คลิปอื่น ๆ แต่อย่างใด มียอดผู้ติดตามจำนวน 1,200 คน โดยข้อมูลของช่องดังกล่าวพบว่า ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 60 ขณะที่ภาพโปรไฟล์ของเพจ พบว่ามีการนำภาพโลโก้ของ Thai PBS มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ตัวอักษรที่ใกล้เคียงกับของ Thai PBS แต่มีการเปลี่ยนตัวอักษร B เป็น β
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงจุดสังเกตของตัวอักษรที่มีการใช้ตัวอักษรที่ใกล้เคียงกันกับชื่อเพจ Thai PBS
ปัจจุบัน “Thai PBS” มีช่อง YouTube หลักเพียงช่องเดียว ซึ่งใช้ชื่อว่า Thai PBS โดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ได้จากเครื่องหมาย verified หรือ ติ๊กถูก ข้างชื่อช่อง YouTube ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันสถานะของช่องว่า YouTube ได้ยืนยันช่องดังกล่าวแล้ว รวมถึงยังสามารถสังเกตได้ว่า ช่องจริงของ Thai PBS ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 20 พ.ย. 52 และมียอดผู้ติดตามเกือบ 10 ล้านคน ในปัจจุบัน (ลิงก์บันทึก)
เราทดลองนำชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Satochi ซึ่งมีการกล่าวในคลิปดังกล่าว มาทำการตรวจสอบด้วยคำสำคัญจนพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการสร้างเว็บไซต์สำหรับจำหน่ายสินค้า โดยภายในเว็บไซต์ดังกล่าวมีการระบุถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์เอาไว้ รวมถึงระบุเลขการจดทะเบียนอาหารของ อย. คือ 12-1-06656 ในชื่อของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา ไอญ่า บาย เอ็มม่า ซึ่งเมื่อนำเลขสารบบอาหารมาตรวจสอบกับระบบตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ กลับไม่พบชื่อของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพการตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพที่พบว่าไม่ตรงกับสินค้าที่มีการกล่าวอ้าง
นอกจากนี้เมื่อเรานำภาพที่มีการอ้างว่า “แนะนำให้ใช้จากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านทั่วโลก” ซึ่งอยู่ในเพจดังกล่าวไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือ Google Lens พบว่า ภาพดังกล่าวถูกนำมาจากรายงานการปฏิบัติภารกิจของ คณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นภาพของ ตัวแทนสมาพันธ์โรคไม่ติดต่อของประเทศไทย และภาคประชาสังคม กับ ผู้แทนของคณะทำ งานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติ ด้านป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)
แพทย์แนะนำอย่าใช้ยาที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์โดยตรง
พญ.สุภมาศ ศิริศรีตรีรักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการรักษาของแพทย์ในปัจจุบันว่า การรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคเบาหวานโดยเฉพาะที่เป็นเม็ดฟู่แต่อย่างใด ซึ่งการรักษาในปัจจุบันจะเริ่มจากการปรับพฤติกรรมของคนไข้ ที่ถือเป็นมาตรฐานของคนไข้ทุกคน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะอาหารที่มีการแนะนำให้ทานคาร์โบไฮเดรตที่เพียงพอ และไม่เยอะเกินไป รวมถึงลดปริมาณของแป้ง และน้ำตาล ซึ่งมักพบในผลไม้ที่มีดัชนีความหวานสูง ๆ ซึ่งมีการแนะนำให้ทานปริมาณให้ลดลง
เรื่องต่อมาคือการแนะนำให้คนไข้มีการออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย 1 ครั้ง เป็นเวลา 30 นาที ไม่ว่าจะเป็นการแอโรบิก หรือการยืดเหยียด ที่จะช่วยกระตุ้นการนำอินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้คนไข้น้ำตาลดลงได้
ขณะที่ในส่วนของยานั้น ปัจจุบันมียาหลายชนิดทั้งการรับประทานหรือยาฉีด ซึ่งจะต้องดูในส่วนของโรคประจำตัวว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง หรือโรคหัวใจ รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันมียาเบาหวานตัวใหม่บางตัว ที่ลดน้ำตาลและมีฤทธิ์อื่น ๆ เช่น การชะลอการเกิดโรคหัวใจ เป็นต้น โดยการให้ยาเบาหวานส่วนใหญ่ จะพิจารณาตามอาการของแต่ละคน ดังนั้นการรับประทานยาของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ส่วนยาฉีดในปัจจุบันนั้น มีทั้งยาฉีดชนิดอินซูลินและไม่ใช่อินซูลิน ซึ่งยาฉีดอินซูลินส่วนใหญ่จะใช้ในคนไข้เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นหลัก
พญ.สุภมาศ ศิริศรีตรีรักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
อย่างไรก็ตามหากคนไข้หันไปใช้ยาที่โฆษณาที่ไม่มีการรับรอง ก็ถือเป็นสิ่งที่อันตราย เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้ว่า ยาดังกล่าวผลิตมาจากอะไร มีงานวิจัยรับรองหรือไม่ รวมถึงจะมีผลข้างเคียงใดหรือไม่ ดังนั้นแนะนำว่าผู้ป่วยควรพูดคุยกับแพทย์ที่รักษาประจำดีกว่า ก่อนไปพิจารณาใช้ยาอื่น ๆ