Feature ใหม่สามารถแจ้งเตือนบัญชีม้าได้
Meta ได้ร่วมมือกับตำรวจสอบสวนกลาง เปิด Feature ความปลอดภัยใหม่ในไทย ด้วยการยกระดับการแจ้งเตือนป้องกันบัญชีม้าและภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ
Feature นี้ จะทำงานระหว่างคู่บทสนทนาในขณะซื้อ-ขาย หากเลขบัญชีที่เราได้รับมาตรงกับบัญชีที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ทางตำรวจสอบสวนกลางมี จะขึ้นแจ้งเตือนให้เรารู้ทันทีว่า เป็นบัญชีต้องสงสัย ให้เราระวังตัวได้ทันก่อนโอนทุกครั้ง
โดย Meta ได้มีการเริ่มทดสอบ Feature ดังกล่าวในประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ และขณะนี้กำลังทยอยเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 68 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ Meta ยังได้พัฒนาเครื่องต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้รักษาความปลอดภัยของบัญชีได้ง่ายขึ้น เช่น การยืนยันตัวตนสองขั้นตอน การแจ้งเตือนการเข้าสู่ระบบ และ Feature Security Checkup สำหรับการอัปเดตการตั้งค่าความปลอดภัย นอกจากนี้ Meta ยังใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หลอกลวงใช้ภาพของบุคคลสาธารณะในโฆษณา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกู้คืนบัญชีที่ถูกแฮ็ก ไปจนถึงตรวจจับและลบบัญชีปลอมได้
อีกทั้งยังมี Feature การสื่อสารอื่น ๆ เช่น Safer Message Requests บน Instagram ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้ต้องส่งคำเชิญให้กับผู้ใช้อีกรายที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน จึงจะสามารถส่งข้อความถึงกันได้ โดยจำกัดการสื่อสารครั้งแรกให้แชตได้เพียงข้อความเดียว นอกจากนี้ Meta ยังเตือนผู้ใช้ว่าให้มีความระมัดระวังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ไม่รู้จักบน Instagram, Messenger และ WhatsApp
ขณะเดียวกัน Meta ได้พัฒนาเครื่องมือการรายงานบัญชีที่อาจมีความน่าสงสัยเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงและการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการปลอมแปลงตัวตนและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึง Brand Rights Protection เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถค้นหาและตรวจสอบเนื้อหาที่อาจละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างรวดเร็ว และไม่ให้ผู้ประสงค์ร้ายนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในทางที่ละเมิด
นอกจากนี้ Meta ได้นำข้อกำหนดใหม่มาใช้ โดยให้ผู้ลงโฆษณารายใหม่ ต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ที่เชื่อมกับบัญชีโฆษณาก่อนที่จะมีการเผยแพร่โฆษณาใด ๆ เพื่อปกป้องชุมชนจากการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น ผู้โฆษณาใหม่ในกรณีนี้หมายถึงผู้ที่ยังไม่มีบัญชีโฆษณา เป็นบัญชีที่มีอายุน้อยกว่า 90 วัน และไม่มีการใช้งบประมาณการลงโฆษณา และไม่ได้เชื่อมโยงกับบัญชีธุรกิจที่ได้รับการจัดการหรือยืนยันก่อนหน้านี้
เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย
ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะจาก Facebook (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Meta ให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยและความมั่นคงของชุมชน เรามีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาการหลอกลวง ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปได้ตลอดเวลาในทุกแพลตฟอร์มของเรา และเราได้ทุ่มเทการลงทุน เพื่อยกระดับเทคโนโลยี ความร่วมมือ และการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุก เพื่อก้าวนำหน้าผู้ไม่ประสงค์ดี โดยเรามุ่งหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย และอุ่นใจสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะพัฒนากลยุทธ์ของเราอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปกป้องผู้ใช้และสร้างความไว้วางใจให้กับแพลตฟอร์มของเรา
ปัญหาภัยออนไลน์ในปัจจุบันจากมือปราบ
สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ในช่วงปี 2567 เป็นต้นมา Meta ตรวจพบและลบบัญชีที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายแก๊งมิจฉาชีพในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา, ลาว, กัมพูชา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฟิลิปปินส์ โดยมีจำนวนรวมมากกว่า 7 ล้านบัญชี และมีบัญชีปลอมกว่า 1,400 ล้านราย ถูกตรวจพบและถูกลบโดยระบบอัตโนมัติของ Meta ซึ่งพบการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น บัญชีที่เกี่ยวข้องกับ Romance Scam หรือการหลอกให้หลงรักออนไลน์กว่า 408,000 บัญชี และบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงกว่า 116,000 บัญชี
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ปัญหาอาชญากรรม การหลอกลวงออนไลน์เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย อีกทั้งกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่ตั้งฐานปฏิบัติการตามชายแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่การบังคับใช้กฎหมายปกติเป็นไปได้ยากเพื่อพุ่งเป้าหลอกเหยื่อทั่วโลก รวมทั้งคนไทย โดยนับตั้งแต่ปี 2567 ที่ทางตำรวจสอบสวนกลางได้เข้ามาช่วยทำคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ ได้มีการสืบสวนสอบสวนจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนหลายแก๊ง และดำเนินการแสวงหาความร่วมมือเพื่อป้องกันเชิงรุกกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึง Meta อย่างต่อเนื่องทั้งการแชร์ข้อมูลเพื่อร่วมกันทำการปราบปราม หรือการพิจารณานำฟีเจอร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยอื่น ๆ มาใช้ในไทย
ทั้งนี้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 เม.ย. 68 มูลค่าความเสียหายจากปัญหาอาชญากรรมการหลอกลวงออนไลน์อยู่ที่ 7,600 ล้านบาท โดยแผนประทุษกรรมที่มีจำนวนผู้เสียหายเยอะลำดับหนึ่ง คือ การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ด้าน พ.ต.ต. ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ หรือ “สารวัตรแจ๊ะ” จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (IDMB) ผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวเสริมว่า ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะวิวัฒนาการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเหมือนกับว่าแทบจะเป็นธุรกิจเฟรนไชน์ประเภทหนึ่งไปแล้ว ต้นตอของปัญหานี้ก็มีหลายอย่างเกี่ยวพันกันเป็นทอด ๆ การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่จับได้ครั้งสองครั้งแล้วจะจบ มันเป็นเหมือนสงครามที่ต้องต่อสู้กับมันในทุกมิติ สิ่งสำคัญ ผมมองว่าคือ ความร่วมมือ ในทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ทาง Meta เองส่วนสำคัญในการช่วยในทะลายสะพานโจรเหล่านี้ สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ กลุ่มหางานที่หลอกคนไปทำงานที่คอลเซ็นเตอร์ ถูกสืบสวนและเอาลงทั้งเครือข่าย ทำให้เกิดความคืบหน้าในการทำงานและสกัดกั้นกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ได้มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย